โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ
Plant Genetic Conservation Project Under the Royal Initiation of Her Royal Highness Princess Maha Chakri Sirindhorn (RSPG)

สัญลักษณ์โครงการ

          สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ  สยามบรมราชกุมารี  พระราชทานให้ ชมพูภูคา เป็นดอกไม้สัญลักษณ์
ในโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ

ชมพูภูคา 
ชื่อวิทยาศาสตร์    Bretschneidera sinensis Hemsl.
ชื่อวงศ์                BRETSCHNEIDERACEAE
ลักษณะ              ไม้ต้น  สูงได้ถึง 25 เมตร  เปลือกเรียบสีเทา ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก  ยาว 30-80 เซนติเมตร  ใบย่อยไม่มีก้านใบ  รูปหอกถึงรูปไข่  กว้าง 2.5-6 เซนติเมตร  ยาว 8-25 เซนติเมตร โคนใบมนไม่เท่ากัน ปลายใบแหลม  ดอกสีชมพูคล้ายรูประฆัง  ออกเป็นช่อที่ปลายยอด ช่อยาวได้ถึง 40 เซนติเมตร กลีบรองดอกขนาดใหญ่ รูปถ้วยขอบหยักตื้นๆ กลีบดอก 5 กลีบ รูปไข่กว้าง  โคนกลีบเรียวยาว  ปลายกลีบม้วนออกด้านนอก ขนาด 1.8-2 เซนติเมตร กลีบบนมักคว่ำลง  เกสรเพศผู้ 8 อัน  ผลรูปกระสวย แก่แล้วแตก เมล็ด รูปรี กว้าง 12 มิลลิเมตร ยาว  20  มิลลิเมตร

                         ด้วยความสูงจากระดับน้ำทะเล 1,980 เมตร ดอยภูคานับเป็นยอดดอยที่สูงที่สุดแห่งหนึ่งของเทือกเขาหลวงพระบาง  และเป็นยอดดอยที่สูงในลำดับต้นๆ ของประเทศ  จากสภาพดังกล่าวนี้ทำให้เทือกดอยภูคา   มีลักษณะโดดเด่น ในด้านระบบนิเวศของพืชพรรณภูเขาสูงอันอุดมไปด้วยป่าดงดิบเขา ป่าดงดิบชื้น รวมทั้งป่าเบญจพรรณและป่าเต็งรัง อีกทั้งเป็นป่าต้นน้ำของแม่น้ำน่าน พันธุ์ไม้ที่สำคัญและพบเพียงแห่งเดียวในโลกที่นี่คือ ชมพูภูคา ซึ่งเป็นต้นไม้พื้นเมืองของไทย และเป็นพันธุ์ไม้หายาก ใกล้สูญพันธุ์ชนิดหนึ่งของโลก โดยเมื่อประมาณ 30 ปีที่ผ่านมา มีรายงานว่าพบพันธุ์ไม้ชนิดนี้ ที่มณฑลยูนานประเทศจีน  แต่ปัจจุบันคาดว่าสูญพันธุ์ไปแล้ว  ปัจจุบันได้มีการทดลองเพาะกล้าไม้ชมพูภูคาจากเมล็ดเป็นผลสำเร็จซึ่งคาดว่าจะช่วยให้ชมพูภูคาไม่สูญพันธุ์จากโลกนี้ต่อไป

 

** ข้อมูลจากกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ว่าด้วยเรื่องนิเวศธรรมชาติในเมืองไทย-ภาคเหนือ

วันที่เผยแพร่ 19 ตุลาคม 2563